วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตัวอย่างสารคดี

สารคดี เรื่อง ปลาโลมา




โลมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำและมีสติปัญญาสูงชนิดหนึ่ง มีเชื้อสายใกล้เคียงกับ วาฬ ในภาษาอังกฤษเรียกโลมาว่า Dolphin มาจากภาษากรีกโบราณ δελφίς เดลฟิส (delphis) ตำนานกรีก เล่าว่า เทพแห่งไวน์ของกรีก ชื่อ ไดโอนีซอส (Dionysos) แปลงลงมาเป็นมนุษย์ และได้โดยสารเรือข้ามจากเกาะอิคาเรีย (Ikaria) ไปยังเกาะนาซอสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไดโอนีซอสนั้นแม้จะเป็นเทพ ทว่าไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าเรือลำที่ตนโดยสารไปนั้นเป็นเรือโจร ลูกเรือจะปล้นผู้โดยสารทุกคนถ้วนหน้า เมื่อถึงคราวของไดโอนีซอส เขาจึงถูกลูกเรือปล้น และคิดจะจับเขาไปขายเป็นทาส ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจำต้องแสดงตนว่าเป็นเทพ และสาปให้เรือมีเถาองุ่นขึ้นเต็ม มีเสียงขลุ่ยดังขึ้น พวกลูกเรือตกใจ จึงกระโดดน้ำหนีไปหมด และได้กลายร่างเป็นปลาโลมา มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อกลายเป็นปลาโลมา นิสัยของลูกเรือก็เปลี่ยนไปด้วย กลายเป็นสัตว์ที่ใจดี มีเมตตา แถมยังช่วยเทพแห่งสมุทร คือ โพซิดอนหาเจ้าสาวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ปลาโลมาจึงได้รับเกียรติจากโพซิดอน ตั้งชื่อ กลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งว่า กลุ่มดาวโลมาอีกด้วย ที่จริงแล้วโลมาเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ แต่เพื่อความพยายามหาอาหาร เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และหนีศัตรู โลมาจึงค่อยๆปรับตัวให้ลงไปอยู่ในน้ำ เพื่อความอยู่รอดแทน นั่นเป็นตำนานของคนโบราณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นอาศัยอยู่ในน้ำ คลอดลูก เป็นตัว แถมยังเลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนมนุษย์



รูปร่างของโลมา



โลมา อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในมหาสมุทรนับร้อยชนิด แต่ในประเทศไทยที่เรารู้จักกันดีมีอยู่ 2 ชนิด คือ โลมาปากขวด กับ โลมาหัวบาตร บางครั้งยังพบโลมาอยู่ในแม่น้ำอีกด้วย เช่น ในแม่น้ำคงคาที่ประเทศอินเดีย และในแม่น้ำโขง เป็นโลมาหัวบาตรน้ำจืด โลมา มีอวัยวะต่างๆทุกๆ ส่วนเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป หากแต่ละส่วนของอวัยวะ จะปรับเปลี่ยนต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ดังนี้ จมูก โลมามีจมูกไว้หายใจ แต่จมูกนั้นต่างไปจากจมูกของสัตว์ อื่นๆ เพราะตั้งอยู่กลางกระหม่อมเลยทีเดียว เพื่อให้สะดวกต่อการเชิดหัวขึ้นหายใจเหนือน้ำ จากจมูกมีท่อหายใจต่อลงมาถึงปอดในตัว จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำผ่านเหงือกเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจเหมือนปลาทั่วไป หู หูของโลมานั้นเป็นเพียงแค่รูเล็กจิ๋วติดอยูด้านข้างของหัวเท่านั้น แต่หูของโลมามีประสิทธิภาพสูงมาก รับคลื่นเสียงใต้น้ำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะกับภาษาที่โลมาสื่อสารกันด้วยเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง การมองเห็น โลมามีดวงตาแจ่มใส เหมือนตาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีเปลือกตาปิดได้ และในเวลา กลางคืนตาก็จะเป็นประกาย เหมือนตาแมว ตาของโลมาไม่มีเมือกหุ้มเหมือนตาปลา และมองเห็นได้ไกลถึง 50 ฟุต เมื่ออยู่ในอากาศ สีผิว สีผิวของโลมาแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ส่วนมากจะออกไปในโทนสีเทา ตั้งแต่เข้มเกือบดำ จนกระทั่งถึงเกือบขาว แต่โดยทั่วไปปลาโลมาจะมีสีผิวแบบทูโทนคัลเลอร์ คือมีสองสีตัดกัน ด้านบน เป็นสีเทาเข็ม ด้านล่างเป็นสีเกือบขาว เพื่อพรางตัวในทะเล ไม่ให้ศัตรูเห็น เพราะเมื่อมองจากด้านบน สีเข็มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไป สีขาวก็จะกลืนเข้ากับแสงแดดเหนือผิวน้ำ



ความฉลาดของโลมา



ว่ากันว่า โลมานั้นฉลาดไม่แพ้เด็กตัวเล็กๆ เลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะโลมามีขนาดสมอง เมื่อเทียบกับลำตัวขนาดใหญ่มาก แถมภายในสมองยังซับซ้อนอีกด้วย โลมาปากขวดนั้นถึงกับมีขนาดของสมอง เทียบกับลำตัวใหญ่เป็นที่สองรองจากมนุษย์ และ สมองส่วนซีรีบรัม อันเป็นส่วนของความจำ และการเรียนรู้ ก็มีขนาดใหญ่มาก เป็นศูนย์รวมของการรับกลิ่น การมองเห็น และการได้ยิน จนทำให้ นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง กล่าวว่า ไม่แน่นักว่าโลมาอาจจะฉลาดเท่ากับมนุษย์ก็เป็นได้ โลมาผู้ช่วยชีวิต เรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาโลมาช่วยชีวิตคนนั้นมีอยู่บ่อยครั้ง แต่จริงๆแล้ว เป็นเพราะปลาโลมาต้องการช่วยชีวิตคนจริงๆ หรือ เชื่อว่าจริงๆ แล้ว ปลาโลมานั้นเป็นปลาที่อ่อนโยน รักสนุก และขี้เล่น ที่มันช่วยคนอาจเป็นเพราะมันต้องการเข้ามาเล่นสนุกๆ เท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็น สัญชาตญาณของแม่ปลาที่มักจะดุนลูกขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าลูกปลาเสียชีวิต ระหว่างคลอด จะพบว่าแม่ปลาจะพยายามดุนศพลูกเอาไว้ให้ใกล้ผิวน้ำมากที่สุด ภัยร้ายของโลมา ในประเทศไทย โลมาที่ติดอวนมาแล้ว จะถูกชำแหละเนื้อขายด้วยราคาถูกๆ เนื่องจากเนื้อปลาโลมามีความคาวมาก จึงไม่มีผู้นิยมบริโภคเท่าใดนัก ในประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมเคยเป็นประเทศที่ล่าปลาวาฬมากที่สุดในโลก จนกระทั่งปลาวาฬใกล้สูญพันธ์ จึงถูกสั่งห้ามล่าปลาวาฬ หันมาล่าปลาโลมาแทน โดยเพิ่มปริมาณการล่าโลมาขึ้นเป็นสี่เท่า ทำให้โลมาในทะเลญี่ปุ่นลดน้อยลงเป็นอันมาก



การทำรายการสารคดี

การทำรายการสารคดี


ขั้นตอนการทำรายการสารคดี

หลังจากที่ได้เตรียมงาน กำหนดเรื่อง กลุ่มผู้ชม ผู้ฟัง หัวข้อเรื่อง แกนของเรื่อง เนื้อหาประเด็น รวมทั้งชื่อเรื่องแล้ว จะมีขั้นตอนการทำดังนี้

1. ตัดสินใจเกี่ยวกับหัวเรื่อง เช่นการบรรยายและเรื่องแทรกต้องติดต่อกันหรือไม่ สิ่งที่เพิ่มเติมในรายการ ส่วนประกอบที่ต้องใช้ ได้แก่ ผู้เขียนแบบบันทึกเสียง ผู้แปล การประกอบเสียง รูปแบบ การทำข่าว

2. ศึกษาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสัมภาษณ์ และเรื่องแทรกอื่นๆ ข้อเท็จจริง ผู้ให้คำแนะนำ ผู้ให้สัมภาษณ์ สถานที่

3. พิจารณาผู้ช่วยเหลือ ที่จะช่วยเก็บข้อมูล หรือร่วมในรายการ

4. บันทึกเรื่องประกอบ ทำเมื่อความคิดเกี่ยวกับโครงเรื่อง การติดต่อแน่นอนแล้ว ควรระวังเรื่องคุณภาพทางเทคนิคด้วย

5. การตัดต่อเทปครั้งแรก ควรตัดส่วนที่ไม่แน่ใจว่าไม่ใช้ออก ตัดต่อให้มีลักษณะต่อเนื่องและอาจไม่ต้องเอาใจใส่ในเรื่องความผิดพลาดมากนัก แต่ต้อวอลงฟังดูหลายๆครั้งจนกระทั่งรู้สึกว่าแต่ละส่วนต่อเนื่องกันอย่างเหมาะสม และเกิดความคิดเกี่ยวกับคำบรรยาย นอกจากนั้นควรเตรียมพร้อมที่จะบันทึกเพื่อเติมในส่วนที่ขาดหายไป แล้วบันทึกส่วนย่อยที่จัดลำดับไว้เป็นที่น่าพอใจแล้วลงในเทป และเว้นที่ว่างของส่วนหัวเทปและปลายเทปให้มาก

6. เตรียมเขียนบทที่ใช้ผลิตรายการ หลังจากตัดสินแน่ใจในส่วนประกอบต่างๆแล้ว ก็สามารถเขียนบทบรรยายจริงได้ การบันทึกสัญญาณเตือน ช่วงเวลา การเปลี่ยนความดังของเสียงเพลง และเสียงประกอบทั้งหลาย ต้องถูกต้องตามกำหนดเวลาและทำเครื่องหมายให้ชัดเจน นอกจากนั้นเริ่มรายการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ควรเน้นสิ่งที่น่าสนใจ พยายามชี้ให้เห็นถึงส่วนหนึ่งน่าสนใจตลอดเวลา ซึ่งต้องระมัดระวังมากในการเขียนบท

7. การบันทึกรวม เป็นการบันทึกส่วนต่างๆทั้งหมดทีเดียว ป้องกันตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้รายการต่อเนื่อง มีความหลากหลาย น่าสนใจติดตามชมและฟัง เมื่อเสร็จควรตรวจสอบความกระชับของรายการและความต่อเนื่อง ซึ่งอาจปรับปรุงด้วยการตัดต่ออีกครั้ง

การวางแผนก่อนผลิตรายการ

การวางแผนก่อนผลิตรายการ


ก่อนผลิตรายการ(Pre – Production)

เขียนบท (สตอรี่บอร์ด story board)

ทำไมต้องเขียนบท/สตอรี่บอร์ด

การเขียนบทหรือการเขียนสตอรี่บอร์ดคือการเขียนหรือวาดเล่าเรื่องย่อ ๆ ก่อนที่จะลงเรื่องจริง เป็นการไล่เรียงเรื่องราวจากก่อนไปหลัง บนไปล่างนั่นเอง การทำสตอรี่บอร์ดจะทำให้เราเห็นว่าซีนแต่ละซีนเป็นอย่างไร วิธีการนี้จะทำให้เราทำงานออกมาได้ง่ายขึ้น และเห็นภาพได้ชัดก่อนการลงมือถ่ายทำ ที่สำคัญคือ ในช่วงเวลาหลังการผลิต หรือการถ่ายทำคือการตัดต่อเพื่อเรียบเรียงเป็นสารคดีเราจะไม่ต้องกลับไปถ่ายซํ้าเพื่อเก็บภาพที่เราทำผิดพลาดไม่ได้ถ่ายมาเป็นการประหยัดเวลา งบประมาณ และอารมณ์

ในสารคดีหนึ่งๆ จะแบ่งองค์ประกอบได้ 4 ส่วนหลัก ๆ คือ

1. ภาพวีดีโอ

2. บทพูด บทบรรยาย บทสัมภาษณ์ บทสนทนา

3. เสียงประกอบ (ซาวนด์เอฟเฟ็คต์ หรือ เสียงเพลง)

4. เครดิต (ตัวหนังสือเพื่อบรรยายภาพ)

ขั้นตอนการเขียนบทหรือสตอรี่บอร์ด

1. หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เราอยากจะเล่าและนำเสนอ

2. จับประเด็นเรื่องที่อยากเล่า

3. วางโครงเรื่อง

4. เขียนแยกบทบรรยายแต่ละประเภทออกมาหรือ

วาดเป็นสตอรี่บอร์ดออกมาแล้วแยกประเภท

เสียง บทบรรยาย ภาพวีดีโอ

แหล่งข้อมูล มี บุคคล, หนังสือ, อินเตอร์เน็ต, ถามคำตอบเพื่อให้ได้หลากหลายคำตอบ

การวางแผนผลิตสารคดี(Proposal)

- ชื่อเรื่อง

- ประเภทรายการ

- ที่มาของสารคดี

- จุดประสงค์

- พิธีกรและผู้บรรยาย

- ประเด็นที่ต้องการนำเสนอ:

- โครงเรื่อง:

- สถานที่

- ระยะเวลา

- ผู้ชมเป้าหมาย

โครงสร้างสารคดี

- ผู้ผลิตสารคดี

หลักการเขียนสารคดี

หลักการเขียนสารคดี

สารคดีเป็นงานเขียนที่มีมานานแล้วในประเทศไทย แต่นิยมเขียนไว้ในรูปของ พงศาวดาร ตำนาน ตำรา หนังสือสอนศาสนา จดหมายเหตุ ประกาศของทางราชการ ฯลฯ การเขียนสารคดีของไทยเริ่มมีรูปแบบที่ชัดเจนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะได้มีการติดต่อกับประเทศทางตะวันตก

๑. ความหมายของสารคดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของสารคดีว่า หมายถึง “ เรื่องที่เขียนขึ้นจากเค้าความจริง มิใช่เรื่องที่เกิดจากจินตนาการ“ งานเขียนสารคดีจึงเป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนต้องการจะให้สาระ ความรู้ ความคิด โดยไม่ใช้จินตนาการและอารมณ์ผสมผสานลงไป แต่จะต้องใช้ภาษาสำนวนที่มีศิลปะ คมคาย เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

ด้วยเหตุที่ สารคดีเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากความเป็นจริง ทำให้เนื้อหาของสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ได้แก่ บุคคล ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเดินทางท่องเที่ยว การอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แนะนำกิจกรรมต่าง ๆ สถานสำคัญในแต่ละท้องถิ่น

๒. ประเภทของสารคดี

สารคดีแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

๒.๑ สารคดีบุคคล เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตที่น่าสนใจของบุคคลทั่วไปในแง่มุมต่าง ๆ

๒.๒ สารคดีโอกาสพิเศษ เป็นเรื่องที่เขียนตามเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละชาติ เช่น วันสุนทรภู่ วันวิสาขบูชา

๒.๓ สารคดีประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเขียนขึ้นเพื่อย้ำเตือนจิตสำนึกของอนุชนรุ่นหลัง หรือให้เห็นความสำคัญ เช่น สงครามยุทธหัตถี การสร้างกรุงเทพมหานคร

๒.๔ สารคดีท่องเที่ยว เป็นการนำเรื่องราวที่พบเห็นจากการท่องเที่ยวมาเขียนถึงในแง่มุมต่าง ๆ ตามทัศนะของตน

๒.๕ สารคดีแนะนำวิธีทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงขั้นตอนการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นการทำอาหาร การผลิตธนบัตร

๒.๖ สารคดีเด็ก เขียนถึงเรื่องราวของเด็กในแง่มุมต่างๆ เช่น การเลี้ยงดู

การใช้แรงงานเด็ก

๒.๗ สารคดีสตรี เขียนถึงสตรีในแง่มุมต่าง ๆ

๒.๘ สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ เขียนถึงสัตว์ในแง่ของการให้ความรู้ที่เป็นสาระ

๒.๙ สารคดีความทรงจำ เป็นเรื่องราวของความทรงจำในอดีตที่เล่าให้ผู้อื่นเขียน หรือเขียนเอง เช่น การละเล่นสมัยก่อน การอพยพหนีสงคราม

๒.๑๐ สารคดีจดหมายเหตุ เป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

๓. หลักการเขียนสารคดี

การเขียนสารคดีมีหลักในการเขียน ดังนี้

๓.๑ การเลือกเรื่อง เรื่องที่นำมาเขียนเป็นสารคดี จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ หรือทันสมัย หากเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ควรนำเสนอให้น่าสนใจด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน และมุ่งนำเสนอข้อเขียนที่เป็นความรู้ ความคิดจากเรื่องจริง เหตุการณ์จริง และจะต้องเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน มีอรรถรส

๓.๒ การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ สะดุดหู สะดุดตา ควรเป็นชื่อที่เข้ายุคเข้าสมัยในปัจจุบัน ควรหาคำที่มีความหมายกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา แต่ชื่อเรื่องต้องตรงกับเนื้อหาด้วย แนวทางการตั้งชื่อเรื่อง

- แบบชี้นำเนื้อหา โดยการนำความสำคัญของเนื้อหามาสรุปเป็นความคิดรวบยอดเช่น ครูไทย...ภารกิจที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น, ยาบ้ามหาภัย

- แบบสำบัดสำนวน นำสำนวนแปลก ๆมาใช้ เช่น แสนแสบแสบสยิว สยึ๋มกึ๋ย

- แบบคนคุ้นเคย เหมือนผู้เขียนคุ้นเคยกับผู้อ่าน เช่น มาช่วยกันป้องกันเหตุร้ายกันเถอะ การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านจัดสรร

- แบบคำถาม เช่น จริงหรือที่เขาว่าหัวหินสิ้นมนต์ขลัง

- แบบชวนฉงน เช่น ตายแล้วฟื้น, ตายแล้วไป....

๓.๓ กำหนดจุดมุ่งหมายและแนวคิดสำคัญ การกำหนดจุดมุ่งหมายอาจตั้งคำถามว่าต้องการเขียนให้ใครอ่าน ต้องการให้ผู้อ่านคิด/ ทำอย่างไร ผู้เขียนต้องกำหนดแนวคิดให้ชัดเจนว่า สารคดีเรื่องนี้ต้องการจะเสนอแนวคิดสำคัญอะไร มีแก่นเรื่องอะไรนำเสนอแก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหาถ่ายทอดถ้อยคำหรือประโยคต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น

๓.๔ การหาข้อมูล แหล่งความรู้ที่ใช้ประกอบการเขียนสารคดี ได้แก่ หนังสือ สารานุกรม นิตยสาร วารสาร วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์ การสนทนา และการเก็บข้อมูลภาคสนาม เป็นต้น

๓.๕ การวางโครงเรื่อง ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่องก่อนเขียน เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน ว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้โดยง่าย ไม่สับสน วกวน นอกเรื่อง ทำให้เรื่องมีเอกภาพ มีลำดับต่อเนื่องกัน และได้เนื้อความครบถ้วน

๓.๖ การลงมือเขียน สารคดีมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับความเรียงทั่วไป คือ

- ความนำ / การเปิดเรื่อง

- เนื้อเรื่อง / การดำเนินเรื่อง

- ความลงท้าย / การปิดเรื่อง

๓.๖.๑ ความนำ / การเปิดเรื่อง เป็นการเปิดเรื่องบอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ก่อนว่าจะเขียนอะไร เพื่อชักจูงให้ผู้อ่านสนใจ การขึ้นความนำอาจทำได้หลายประการ เช่น

- แบบสรุปเนื้อหาให้ผู้อ่านรู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม

- ขึ้นต้นจากชื่อเรื่องซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก

- เรื่องในสังคมที่คนกำลังสนใจ

- คำพูดของบุคคลสำคัญ

- เล่าเรื่องลักษณะคล้ายนิทานแล้วโยงเข้าหาเนื้อเรื่อง

- เหตูการณ์สำคัญในเรื่อง

- ยกสุภาษิต คำพังเพย กวี นิพนธ์ คำคม

- ใช้ประโยคสำคัญ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องมากล่าว

- ใช้คำถาม

- ยกเหตุการณ์เปรียบเทียบ

- พรรณนา

- ย้อนอดีต โยงเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน



๓.๖.๒ เนื้อเรื่อง / การดำเนินเรื่อง กลวิธีการดำเนินเรื่องของสารคดีอาจเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้เขียน หรือมีการแทรกบทสนทนา หรือบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนต้องสอดแทรกความคิดเห็นของตนในเนื้อเรื่องด้วย เนื้อเรื่องต้องมีส่วนที่เป็นใจความหลัก และส่วนขยายความให้เนื้อหาชัดเจนขึ้น เช่น การเสนอข้อมูลแสดงสถิติ แสดงการเปรียบเทียบ ตัวอย่างประกอบ แต่อย่าให้มากเกินไป



๓.๖.๓ ความลงท้าย / การปิดเรื่อง เป็นส่วนทำให้ผู้อ่านประทับใจ ควรเขียนให้กะทัดรัดจับใจผู้อ่าน โดยการสรุปข้อมูล ข้อคิด แสดงข้อคิดเห็น คำแนะนำ วิธีแก้ปัญหาของผู้เขียน อย่างสร้างสรรค์ โน้มน้าวให้เกิดความร่วมมือ สรุปให้เกิดความตระหนัก



๓.๗ การใช้ภาษา ควรใช้ภาษาที่ชัดเจน ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย หากเป็นการใช้ศัพท์เฉพาะหรือภาถิ่นควรอธิบายความหมายไว้ด้วย นอกจากนี้ควรใช้โวหาร สำนวน ภาพพจน์ ตลอดจนระดับภาษาให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จะเขียนแบบพรรณนา บรรยาย อธิบาย หรือ โน้มน้าว ก็ได้



๓.๘ ความยาวของสารคดี ไม่ควรมีความยาวมากเกินไป เพราะสารคดีมีลักษณะเป็นบทเป็นตอน ไม่ใช่ตำราหรือหนังสืออ้างอิง จึงควรมีความยาวในการอ่านประมาณ ๑๕ นาที



๓.๙ การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว แต่ละคนมีลักษณะและลีลาการเขียนที่แตกต่างกัน จะเลือกแบบใดก็ได้ แต่อย่าลืมว่าผู้เขียนได้ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน แล้วจึงเลือกหาแนวถนัดของตนเองโดยไม่เลียนแบบผู้อื่น



๓.๑๐ ทบทวนและปรับปรุง เมื่อจบเรื่องควรทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่ จากนั้นอ่านตรวจทานอีกครั้ง หรือถ้าได้เก็บเรื่องที่เขียนไว้สัก ๒ – ๓ วัน แล้วนำกลับมาอ่านตรวจอีกครั้งหนึ่ง ก็จะยิ่งดี

๔. ภาพประกอบสารคดี

มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ภาพดี ๆ เพียง ๑ ภาพ แทนคำบรรยายได้นับ ๑,๐๐๐ คำ สารคดีจึงต้องมีภาพประกอบ เพื่อให้งานเขียนสมบูรณ์ น่าเชื่อถือ เรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ภาพประกอบสารคดีควรมีลักษณะ ดังนี้ มีความคมชัด เสริมให้เนื้อหาเด่น ภาพกับเนื้อหาเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นภาพถ่ายจากแหล่งข้อมูลโดยตรง มีมุมถ่ายหลายมุม ถ้าใช้ภาพเขียนต้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริง มีคำบรรยายภาพที่ถูกต้อง ชัดเจน ภาพถ่ายมีทั้งแนวตั้ง และแนวนอน

การเขียนสารคดี

การเขียนสารคดี

ความหมายและจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดี
“สารคดี” หมายถึง งานเขียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีเจตนาเบื้องต้นในการให้สาระ ความรู้ ความคิด ทั้งนี้ ต้องมีกลวิธีการเขียนให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย สารคดีโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. เพื่อให้ความรู้ อาจจะเป็นความรู้เฉพาะสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือภาษาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนพลอย ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น
2. เพื่อให้ข้อเท็จจริง ซึ่งอาจได้มาจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนค้นคว้า รวบรวมมา ประสบด้วยตนเอง หรือได้รับการบอกเล่าโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเรียบเรียง หรือเล่าในรูปสารคดี เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
3. เพื่อแสดงความเห็น หรือแนวคิด เป็นการให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านมีความคิดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น สารคดีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สารคดีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของสังคม สารคดีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ เป็นต้น
4. เพื่อให้ความเพลิดเพลิน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด สารคดีบางเรื่องจึงเขียนให้เป็นสารคดีที่ไม่มีสาระวิชาการมากเกินไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งสนองความต้องการของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนานไปกับเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้สาระความรู้ ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นด้วย เช่น สารคดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะนำชมสถานที่แปลกๆ ใหม่ๆ สวยๆ งามๆ โดยมีการพรรณนาความงามของธรรมชาติ ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย


ลักษณะของสารคดี
1. เนื้อเรื่องมีสาระประโยชน์ เป็นงานเขียนที่มุ่งให้ผู้อ่านเกิดความรู้ ความคิด
2. เนื้อเรื่องไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องใด ถ้าเห็นว่าเนื้อหานั้นมีสาระบันเทิงก็สามารถนำมาเขียนได้
3. การใช้สำนวนภาษาสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน และผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน
4. สารคดีเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยล้าสมัย ไม่มีการจำกัดกาลเวลาเหมือนข่าว
ประเภทของสารคดี
สารคดีแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. สารคดีวิชาการ เป็นเรื่องที่ให้ความรู้วิชาการแขนงต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศาสนศาสตร์ เป็นต้น
2. สารคดีทั่วไป เป็นเรื่องที่ให้ความรู้และความรอบรู้ทั่วๆ ไป เช่น การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา งานอดิเรก สงคราม อุบัติเหตุ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ การทำขนม ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกกำลังกาย เป็นต้น
3. สารคดีชีวประวัติ เป็นการเขียนเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ผู้เขียนจะต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรม ปราศจากอคติลำเอียง เขียนโดยการไปสัมภาษณ์เจ้าของประวัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้นั้น แล้วนำเอาสิ่งที่เป็นสาระมาเขียนไว้ เพื่อให้เกิดความรู้ ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
องค์ประกอบของสารคดี
1. คำนำ คือ การเริ่มต้นเรื่องโดยการเกริ่นให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่จะเขียนนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นการเสนอทรรศนะอย่างกว้างๆ ไว้ก่อน ไม่ต้องอธิบายอย่างละเอียด และไม่ต้องเขียนยาวมากนัก มีเพียงย่อหน้าเดียว ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนใจแก่ผู้อ่านให้ได้ทราบข้อมูล เรื่องที่น่ารู้และน่าสนใจ
2. เนื้อเรื่อง คือ การขยายเนื้อความให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูล รายละเอียด โดยอาจแทรกสถิติ ตัวอย่างประกอบ เพื่อความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การเขียนเนื้อเรื่องอาจมีหลายย่อหน้า
3. สรุป คือ การเขียนข้อความในตอนท้ายของเรื่อง ผู้เขียนต้องใช้ศิลปะในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน อาจใช้กลวิธีอย่างเช่น สรุปโดยการใช้สำนวน คำพังเพย หรือ คำคม หรือ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจ การเขียนสรุปควรมีเพียงย่อหน้าเดียว
ขั้นตอนการเขียนสารคดี
1. การเตรียมตัว ผู้เขียนจะต้องศึกษาเหตุการณ์ ติดตามเรื่องราว ศึกษาจากเอกสาร หนังสือ หรือการทดลอง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และเตรียมข้อมูล โดยต้องเลือกเรื่อง กำหนดจุดมุ่งหมาย ศึกษาแหล่งข้อมูล และเก็บรวบรวมข้อมูล
2. การลงมือเขียนเรื่อง เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้พร้อมแล้ว ก็ลงมือเขียนโดยตั้งชื่อเรื่อง เขียนโครงเรื่อง และลงมือเขียนรายละเอียดของเรื่องด้วยความตั้งใจ ใช้ภาษาที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เร้าใจให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ และจูงใจให้ผู้อ่านสนใจติดตามต่อไป
3. การทบทวนเรื่องที่เขียน ควรทบทวนสาระของเรื่องว่า ตรงกับชื่อเรื่องและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ตลอดจนควรพิจารณาความถูกต้อง สมบูรณ์ ความเหมาะสมของเนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาและสัมพันธภาพของเรื่องด้วย
4. การตรวจทาน หลังจากที่ได้ทบทวนและแก้ไขแล้ว ควรอ่านตรวจทานอย่างพินิจพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่

5. การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งให้มีลักษณะคือ เหมาะแก่กาลเทศะ แปลกใหม่และคมขำ จำง่าย และคลุมถึงเนื้อเรื่องได้ดีที่สุด ชื่อเรื่องเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพิถีพิถัน เพราะหากเนื้อเรื่องดีแต่ชื่อเรื่องไม่ดี ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้

สารคดีคืออะไร

สารคดีคืออะไร?

สารคดี หมายถึง งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องจริงผ่านกลวิธีการเขียนของผู้เขียนเพื่อมุ่งให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านเป็นประเด็นหลักและความเพลิดเพลินเป็นประเด็นรองโดยนำเสนออย่างมีศิลปะ
หลักการอ่านสารคดี การอ่านสารคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้สาระความรู้และความเพลิดเพลิน ดังนั้นผู้อ่านควรอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ศึกษาความสัมพันธ์ของเนื้อหาสาระ การใช้ภาษา และเจตคติของผู้เขียน การอ่านสารคดีมีหลักการดังนี้
1.จับใจความสำคัญของเรื่อง วิเคราะห์ความหมายของถ้อยคำเพื่อหานัยสำคัญที่แฝงอยู่ และสรุปใจความสำคัญของเนื้อหานั้นโดยจัดลำดับประเด็นต่างๆให้เหมาะสม
2.วิเคราะห์ความเห็นของผู้เขียน ผู้อ่านควรแยกข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของผู้เขียนออกจากกันโดยใช้วิจารณญาณของตนเองว่าเห็นด้วยกับทรรศนะของผู้เขียนหรือไม่ และวิเคราะห์ตัวผู้เขียน โดยศึกษาจากลีลาการเขียน การใช้ภาษา วิธีการบรรยายข้อมูล การเล่าเรื่อง เล่าประสบการณ์ รวมทั้งอารมณ์ที่แสดงออกมาในเรื่อง
3.วิเคราะห์กลวิธีการเขียน ตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องว่าดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือไม่ การวางโครงเรื่อง วิธีการดำเนินเรื่อง และผู้เขียนได้สรุปโดยเสนอแนวคิดอะไรแก่ผู้อ่านบ้าง
4.วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเนื้อหาสาระกับการใช้ภาษา ควรคิดว่าสารคดีเรื่องนั้นเสนอข้อมูลต่างๆ ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นกลมกลืนกันหรือไม่ มีการใช้ภาษาและโวหารเหมาะสมกับเนื้อเรื่องหรือไม่

การอ่านสารคดีโดยใช้วิจารณญาณดังกล่าว จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจสาระสำคัญของเรื่อง ได้แนวคิดจากการอ่าน สามารถนำความรู้ ความคิดเห็นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ภาษา

ภาษา
ภาษา หมายถึง วิธีที่มนุษย์ใช้แสดงความรู้สึกและสื่อความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ ภาษาจำแนกตามวิธีการแสดงออกได้ ๒ ประเภท คือ
วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำ เสียงพูดหรือเครื่องหมายแทนเสียงพูดที่มนุษย์ตกลงใช้ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ
อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่การพูดเป็นถ้อยคำ หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่สามารถสื่อให้เกิดความหมาย ความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจตรงกัน เช่น ภาษาท่าทาง ภาษาใบ้ ภาษากาย มี ๗ ประเภท คือ
เทศภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากระยะห่างระหว่างบุคคลและสถานที่ที่ใช้ในการสื่อสารกัน เช่น การโน้มตัวเดินผ่านผู้ใหญ่ให้ห่างมากที่สุดเพื่อแสดงความมีสัมมาคารวะ
กาลภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากช่วงเวลาในการสื่อสาร เช่น นักศึกษาเข้าเรียนตรงเวลา แสดงถึงความตั้งใจ เอาใจใส่ และให้เกียรติผู้สอน
เนตรภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากสายตา เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก เช่น การหลบสายตา เพราะกลัว หรือเขินอาย หรือมีความผิดไม่กล้าสู้หน้า
สัมผัสภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการสัมผัส เช่น การโอบกอด การจับมือ
อาการภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การไหว้ การยิ้ม การเม้มปาก การนั่งไขว่ห้าง การยืนเคารพธงชาติ
วัตถุภาษา อวันภาษาที่รับรู้จากการเลือกใช้วัตถุเพื่อสื่อความหมาย เช่น เครื่องประดับ การแต่งบ้าน การมอบดอกไม้ การ์ดอวยพร

ปริภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากการใช้น้ำเสียงแสดงออกพร้อมกับถ้อยคำนั้น ทำให้สามารถเข้าใจความหมายของถ้อยคำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยเน้นให้เห็นถึงเจตนา หรือลักษณะของผู้ส่งสารว่าพอใจ โกรธ ฯลฯ เช่น ความเร็ว จังหวะ การเน้นเสียง ลากเสียง ความดัง ความทุ้มแหลม ในกรณีของภาษาเขียนอวัจนภาษาที่ปรากฏได้แก่ ลายมือ การเว้นวรรคตอน การย่อหน้า ขนาดตัวอักษร ฯลฯ

คำในภาษาไทย

คำในภาษาไทยจำแนกได้ 7 ชนิดคือ


คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำบุรำบท คำสันธาน และคำอุทาน


คำนาม คือคำที่ใช้เรียนชื่อคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เช่น ครู นักปลา ดินสอโต๊ะ บ้าน โรงเรียน แบ่ง 5 ชนิด ได้แก่

1. สามานยนาม ได้แก่นามที่เป็นชื่อทั่ว ๆ ไป เช่นหนู ไก่ โต๊ะ บ้าน คน

2. วิสามานนาม เป็นชื่อเฉพาะ เช่น นายทอง เจ้าดำ ชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อจังหวัด ชื่อประเทศ ชื่อแม่น้ำ ชื่อเกาะ

3. สุหนาม นามที่เป็นหมู่คณะ เช่น ฝูง โขลง กลอง หรือคำที่มีความหมายไปในทางจำนวนมาก เช่น รัฐบาล องค์กร กรม บริษัท

4. ลักษณนาม เป็นคำนามที่บอกลักษณะของนาม มักใช้หลังคำวิเศษที่บอกจำนวนนับ เช่น ภิกษุ 4 รูป นาฬิกา 4 เรือน

5. อาการนาม คือ นามที่เป็นชื่อกริยาอาการในภาษามักใช้คำว่า “การ” และ “ความ” นำหน้า เช่น การนั่งการกิน ความดี ความจน

คำนามที่อยู่ในประโยคจะทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นประธานและกริยาของประโยค เช่น


ประโยค ประธาน กริยา กรรม

ม้าวิ่ง ม้า วิ่ง -

นักเรียนไปโรงเรียน นักเรียน ไป โรงเรียน

แมวจับหนู แมว จับ หนู

ครูทำโทษสมชาย ครู ทำโทษ สมชาย


คำสรรพนาม

คำสรรพนาม คือคำที่ใช้แทนคำนาม เช่น ผม ฉัน หนู เธอ คุณข้าพเจ้า เขา ท่าน มัน เป็นต้น แบ่งเป็น 6 ชนิดได้แก่

1. บุรุษสรรพนาม คือคำนามที่ใช้แทนชื่อ เวลาพูดกัน

บุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้พูด เช่นผมฉัน ข้าพเจ้า

บุรุษที่2 ใช้แทนผู้ฟัง เช่นคุณ เธอ

บุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้กล่าวถึง เช่นเขา มัน

2. ประพันธสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทน(เชื่อม)คำนามที่อยู่ข้างหน้า ได้แก่ คำว่า ที่ ซึ่ง อัน เช่น

คนที่ออกกำลังกายเสมอร่างการมักแข็งแรง

อเมริกาซึ่งเป็นเจ้าภาพแข่งขันชกมวยกำลังมีชื่อเสียงทั่วโลก

มีดอันที่อยู่ในครัวคมมาก

3. นิยมสรรพนาม ได้แก่สรรพนามที่กำหนดความให้รู้แน่นอนได้แก่ นี่ นั่น โน่น หรือ นี้ นั้น โน้น เช่น

นี่เป็นเพื่อนของฉัน

นั่นอะไรน่ะ

โน่นของเธอ

ของเธออยู่ที่นี่

4. อนิยมสรรพนาม ได้แก่สรรพนามที่แทนสิ่งที่ไม่ทราบ คือไม่ชี้เฉพาะลงไปและไม่ได้กล่าวในเชิงถาม หรือสงสัย ได้แก่ ใคร อะไร ไหน ใด เช่น

ใครขยันก็สอบไล่ได้

เขาเป็นคนที่ไม่สนใจอะไร

5. ปฤจฉสรรพนาม ได้แก่สรรพนามใช้เป็นคำถาม ได้แก่คำ อะไร ใคร ที่ไหน แห่งใด ฯลฯ เช่น

ใครอยู่ที่นั่น

อะไรเสียหายบ้าง

ไหนละโรงเรียนของเธอ

6. วิภาคสรรพนาม หมายถึงคำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามซึ่งแสดงให้เห็นว่านามนั้น จำแนกออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ ต่างบ้าง กัน เช่น

นักเรียนต่างก็อ่านหนังสือ

เขาตีกัน

นักเรียนบ้างเรียนบ้างเล่น


คำกริยา

คำกริยา คือ คำแสดงอาการของนาม สรรพนาม แสดงการกระทำของประโยค เช่น เดิน วิ่ง เรียน อ่าน นั่ง เล่น เป็นต้น แบ่งเป็น 4 ชนิด

1. สกรรมกริยา คือคำกริยาที่ต้องมีกรรมรับ เช่น

ฉันกินข้าว

เขาเห็นนก

2. อกรรกริยา คือคำกริยาที่ไม่ต้องมี่กรรมมารับก็ได้ความสมบูรณ์ เช่น

เขานั่ง

เขายืน

3. วิกตรรถกริยา คือ คำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ ได้แก่ เหมือน เป็น คล้าย เท่า คือ เช่น

ผมเป็นนักเรียน

คนสองคนนี้เหมือนกัน

ลูกคนนี้คล้ายพ่อ

ส้ม 3 ผลใหญ่เท่ากัน

เขาคือครูของฉันเอง

4. กริยานุเคราะห์ คือคำกริยามี่ไม่มีความหมายในตัวเอง ทำหน้าที่ช่วยกริยาให้มีความหมายชัดเจนขึ้นได้แก่คำ จง กำลัง จะ ย่อม คง ยัง ถูก นะ เถอะ เทอญ ฯลฯ เช่น

แดงจะไปโรงเรียน

เขาถูกตี

รีบไปเถอะ

คำวิเศษณ์

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่นให้ได้ใจความชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งออกเป็น 10 ชนิดคือ

1. ลักษณะวิเศษณ์ บอกลักษณะ เช่น สูง ใหญ่ ดำ อ้วน ผอม แคบ หวาน เค็ม กว้าง

2. กาลวิเศษณ์ บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น ดึก เดี๋ยวนี้ โบราณ

3. สถานวิเศษณ์ บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง

4. ประมาณวิเศษณ์ บอกจำนวน เช่น หนึ่ง สอง น้อย มาก ทั้งหมด ทั้งปวง บรรดา

5. นิยมวิเศษณ์ บอกความแน่นอน เช่น นี่ นี้ โน่น นั้น

6. อนิยมวิเศษณ์ บอกความไม่แน่นอน เช่น กี่ อันใด ทำไม อะไร ใคร

- กี่คนก็ได้

- ใครทำก็ได้

- เป็นอะไรก็เป็นกัน

- คนอื่นไม่รู้ไม่เห็น


7. ปฤจฉาวิเศษณ์ บอกความเป็นคำถาม เช่น

- แม่จะไปไหน

- เธออายุเท่าไร

- แกล้งเขาทำไม

- ไยจึงไม่มา

8. ประติชฌาวิเศษณ์ (บอกการตอบรับ) มีคำว่า คะ ครับ จ้ะ จ๋า ขา ฯลฯ

9. ประติเศษวิเศษณ์ แสดงความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ใช่ หามิได้ บ่

10. ประพันธวิเศษณ์ แสดงหน้าที่เชื่อมประโยค เช่น ที่ ซึ่ง อัน

- เขาพูดอย่างที่ใคร ๆ ไม่คาดคิด

- เธอเดินไปหยิบหนังสือซึ่งอยู่บนโต๊ะ

- ของมีจำนวนมากอันมิอาจนับได้


คำบุพบท

คำบุพบท คือคำที่ใช้นำหน้าคำอื่นแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ

1. ไม่เชื่อมกับบทอื่น ได้แก่ คำทักทาย หรือร้องเรียน เช่น ดูกร ข้าแต่ อันว่า แน่ะ เฮ้ย

2. เชื่อมกับบทอื่น ได้แก่ โดย ของ บน

- พวกเราเดินทางโดยรถยนต์

- ขนมเหล่านั้นเป็นของคุณแม่

- นกเกาะอยู่บนต้นไม้

- เขาเดินไปตามถนน

- ฉันเขียนหนังสือด้วยปากกา

- เขามาถึงตั้งแต่เช้า

- ในหลวงทรงเป็นประมุขแห่งชาติ

- เขาบ่นถึงเธอ

- นักโทษถูกส่งไปยังเรือนจไ

- ครูชนบทอยู่ไกลปืนเที่ยง

- นักเรียนอ่านหนังสืออยู่ภายในห้องเรียน

- ข้าวในนา ปลาในน้ำ

- ประชาชนทุกคนอยู่ใต้กฎหมายของบ้านเมือง

การใช้คำ กับ แก่ แด่ ต่อ

กับ ใช้กับการกระทำที่ร่วมกันกระทำ

- เขากับเธอมาถึงโรงเรียนพร้อมกัน

- พ่อกับลูกกำลังอ่านหนังสือ

แก่ ใช้นำหน้าผู้รับที่มีอายุน้อยกว่าผู้ให้ หรือเสมอกัน

- คุณครูมอบรางวัลแก่นักเรียน

- เขามอบของขวัญปีใหม่แก่เพื่อน

แด่ ใช้นำหน้านามที่เป็นผู้รับที่มีอายุมากกว่า หรือกับบุคคลที่เคารพ

- นักเรียนมอบของขวัญแด่อาจารย์ใหญ่

- ฉันถวายอาหารแด่พระสงฆ์

ต่อ ให้ในการติดต่อกับผู้รับต่อหน้า

- จำเลยให้การต่อศาล

- ประธานนักเรียนเสนอโครงการต่ออาจารย์ใหญ่

- หาคนหวังดีต่อชาติ

- ผู้แทนราษฎรแถลงนโยบายต่อประชาชาน


คำสันธาน

คำสันธาน คือคำเชื่อมคำ หรือประโยคเชื่อมประโยคให้ต่อเนื่องกัน มี 2 ลักษณะ คือ

1. เชื่อมคำกับคำ เช่น พี่กับน้อง เขียนกับอ่าน ลูกและหลาน

2. เชื่อมประโยคกับข้อความ หรือข้อความกับประโยค มี 4 ลักษณะคือ

ก. คล้อยตามกัน เช่น พอล้างมือเสร็จก็ไปรับประทานอาหาร

ข. ขัดแย้งกัน เช่น แม้เขาจะขยั้นแต่ก็เรียนไม่สำเร็จ

ค. เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เธอจะอ่านหนังสือกรหรือจะเล่น

ง. เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น เพราะรถติดเขาจึงมาสาย


คำอุทาน

คำอุทาน คือคำที่เปล่งออกมาบอกอาการ หรือความรู้สึกของผู้พูดแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ

1. อุทานบอกอาการ หรือบอกความรู้สึก จะใช้เครื่องหมาย อัศเจรีย์ ( ! )

กำกับข้างหลัง เช่น

อุ๊ย ! พุทโธ่ ! ว๊าย! โอ้โฮ! อนิจจา!

2. อุทานเสริมบท เป็นคำพูดเสริมเพื่อให้เกิดเป็นคำที่สละสลวยขึ้น เช่น

- รถรา

- กระดูกกระเดี้ยว

- วัดวาอาราม

- หนังสือหนังหา

- อาบน้ำอาบท่า

ประโยคในภาษาไทย


ประโยค

ประโยค หมายถึง ข้อความที่มีทั้งภาคประธาน และภาคแสดง มีใจความสมบูรณ์ครบถ้วน รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
ประโยคแบ่งตามจำนวนเนื้อความได้ ๓ ชนิด คือ

๑. ประโยคความเดียว (เอกัตถประโยค) คือประโยคที่มีใจความเดียว คือมีบทประธานบทเดียว และบทกริยาเพียงบทเดียว เช่น
ก้อยเล่นแบดมินตันที่สโมสร
รถของคุณแม่เสียบ่อย ๆ
เจ้าแต้มสุนัขข้างบ้านจะกัดเจ้าวุ่นของฉัน
ฉันกำลังอ่านหนังสือสารคดีด้วยความสนใจ
น้อง ๆ ชั้นปีที่ ๑ เชื่อฟังพวกเราพี่ชั้นปี ๒ อย่างดี

ข้อสังเกต ประโยคความเดียว สันธานที่ใช้เชื่อมบทกรรมหรือวิเศษณ์เป็นการเชื่อมคำ

๒. ประโยคความรวม (อเนกัตถประโยค) คือ ประโยคที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเข้าด้วยกัน โดยมีสันธานเป็นเครื่องเชื่อม เช่น
เก่งทำงานบ้านและร้องเพลงเบา ๆ
อาหารและยาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
หลานช่วยพยาบาลย่าจึงหายป่วยเร็ว
ดีทูบีเป็นนักร้องแต่คัทรียาเป็นดาราภาพยนตร์
เธอจะทานผลไม้หรือขนมหวาน

ข้อสังเกต สันธานใช้เชื่อมประธานหรือกริยาเป็นการเชื่อมประโยค

๓. ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค)

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) หมายถึง ประโยคที่รวมประโยคความเดียว ๑ ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม มีข้อสังเกตคือ ประโยคหลัก (มุขยประโยค) กับ ประโยคย่อย (อนุประโยค) ของประโยคความช้อนมี น้ำหนังไม่เท่ากัน
ลักษณะของประโยคความซ้อน

๑. เป็นประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียว ๒ ประโยคไว้ด้วยกัน และมีสันธานเป็นเครื่องเชื่อม

๒. เมื่อแยกประโยคความซ้อนออกจากกันแล้ว จะมีน้ำหนักหรือความสำคัญไม่เท่ากัน ประโยคหนึ่งจะเป็นประโยคหลัก อีกประโยคหนึ่งจะเป็นประโยคย่อย

๓. ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็น
ประธานของประโยค
กรรมของประโยค
วิเศษณ์ขยายกริยา หรือวิเศษณ์ของประโยค
วิเศษณ์ขยายประธานหรือกรรม
ตัวอย่างของประโยคความซ้อน

๑. คุณลุงเอ็นดูหลานซึ่งเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ ๗ ปี

๒. คุณปู่ฟังเพลงไทยเดิมมันมีลีลาเนิบนาบ

๓. คุณตารับประทานยาที่ได้มาจากโรงพยาบาล

๔. บุคคลผู้มีอายุครบ ๑๕ ปี ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน

๕. สมบัติอันมีค่ามหาศาลถูกฝังอยู่ในนี้

๖. ป้าแก้วทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่มาจากที่อื่น
ประโยคความซ้อนมี ๓ ประเภท ดังนี้

๑. ประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เหมือนคำนาม (นามานุประโยค) เช่น

๑. ฉันไม่ชอบคนรับประทานอาหารมูมมาม (กรรม)

๒. คนขาดมารยาทเป็นคนน่ารังเกียจ (ประธาน)

๓. ฉันไม่ได้บอกเธอว่าเขาเป็นคนฉลาดมาก (กรรม)

๔. คนไม่ทำงานเป็นคนเอาเปรียบผู้อื่น (ประธาน)

๕. คนทะเลาะกันก่อความรำคาญให้เพื่อนบ้าน (ประธาน)

๖. ฉันไม่ชอบคนเอาเปรียบผู้อื่น (กรรม)

๗. ผมถามคุณ พี่สาวหายป่วยแล้วหรือยัง (กรรม)

๘. สุนันท์เล่าว่า เขาไปเที่ยวทางเหนือสนุกมาก (กรรม)

๒. ประโยคความซ้อนที่มีประโยคย่อยทำหน้าที่คล้ายคำวิเศษณ์ขยายคำนามหรือขยายสรรพนาม และมีสันธาน ที่ ซึ่ง อัน เป็นเครื่องเชื่อม เช่น

๑. ท่านที่ร้องเพลงอวยพรโปรดมารับรางวัล

๒. เราหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา

๓. ฉันเห็นภูเขาซึ่งมีน้ำขังอยู่ข้างใต้

๔. ครูที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากย่อมทราบอุปนิสัยของนักเรียน

๕. คนที่ประพฤติดีย่อมมีความเจริญในชีวิต

๖. ก้อยคอยไล่นกกระจอกที่มาขโมยข้าว

๗. พวกที่ออกมาตีนกอีลุ้มได้นำเรือเข้ามาหลบฝน

คำที่เชื่อมประโยคหลักกับประโยคย่อยให้เป็นประโยคความซ้อนแบบนี้ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน เรา เรียกว่า ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค

๓. ประโยคความซ้อนที่มีประโยคหลักและประโยคย่อย และประโยคย่อยนั้น ๆ อาจทำหน้าที่เหมือนคำนามก็ได้ ทำหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์ก็ได้ จะมีสันธาน เมื่อ, จน, เพราะ, ตาม, ราวกับ, ให้, ทว่า, ระหว่างที่, เพราะเหตุว่า, เหมือน, ดุจดัง, เสมือน, ฯลฯ เป็นตัวเชื่อม เช่น

๑. เพื่อน ๆ กลับไปเมื่องานเลิกแล้ว

๒. ปลัดอำเภอทำงานหนักจนป่วยไปหลายวัน

๓. เธอนอนตัวสั่นเพราะกลัวเสียงปืน

๔. คนป่วยกินยาตามหมอสั่ง

๕. ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างที่นั่งรอเพื่อน

๖. วันนี้เจ้านายไม่มาเนื่องจากเขาเป็นไข้หวัดใหญ่

๗. ก้อยทำงานเรียบร้อยกว่าเก่ง

หลักการใช้ภาษาไทย

หลักการใช้ภาษาไทย

การใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องสามารถสื่อสารให้บรรลุวัตถุประสงค์และสร้างความประทับใจแก่ผู้รับสาร ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งคือการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับการสื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารควรศึกษาและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประเภทของภาษา ความหมายของคำและประเภทของประโยค